top of page
  • Writer's picturehoparound.co

My Soul Forever ยาโยอิ คุซามะ เจ้าแม่ลายจุด

Updated: May 19, 2020


Happy Birthday คุณยาย Yayoi Kusama! เมื่อ 89 ปีที่แล้วในวันนี้พอดิบพอดี (22 มีนาคม 1929) ใครจะไปคาดคิดว่าเด็กหญิงตัวน้อยๆที่ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวที่มีปัญหาในเมืองมัตสึโมโตะ จังหวัดนางาโนะ จนมีอาการหลอนทางจิตจะเติบโตมาเป็นศิลปิน Avant-Guarde สุดล้ำแถวหน้าของโลกอย่างในทุกวันนี้ แม้ว่างานศิลปะของคุณยายลายจุด จะถูกจัดแสดงหลายครั้ง สลับไปมาในทุกทวีป แต่งาน YAYOI KUSAMA My Soul Forever ที่เราจะพาเพื่อนๆ #hop ไปดูในวันนี้นั้น มีบรรยากาศที่พิเศษกว่าที่อื่นๆ เพราะมันซ่อนตัวอยู่ในโรงละครเก่าอายุกว่า 100 ปี (พร้อมสวนญี่ปุ่นแท้ๆ) ที่ถูกดัดแปลงมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในนามว่า Forever Museum of Contemporary Art (FMOCA) อยู่ใน Gion ย่านเก่าแก่ในเมือง Kyoto

FMOCA ใช้เวลากว่า 30 ปีในการเก็บสะสมงานของคุณยาย และได้ทำงานร่วมกันกับตัวคุณยายเองเพื่อสร้าง collection งานศิลปะนี้ขึ้นมา โดยจะแบ่งเป็น 4 ส่วน 4 ห้องเพื่อให้ผลงานของคุณยายเล่าเส้นทางความเป็นมาของตัวมันเอง

เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นๆอาชีพศิลปินของคุณยาย หลังจากที่ถูกย้ายจากบ้านเกิดมาเรียนปีสุดท้ายที่ Kyoto City University of Arts ซึ่งคุณยายก็ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดภาพหลอนที่เห็น และเยียวยาอาการป่วยทางจิตของตนเองทีมีมาตั้งแต่วัยเด็ก (ซึ่งวัยด็กของคุณยายโหดมาก) โดยใช้ลายตาข่ายตาถี่ๆและจุดขนาดต่างๆจำนวนนับไม่ถ้วนมากระจายตัว และบิดเป็นรูปทรงต่างๆตามภาพในจิตของคุณยาย ซึ่งสุดท้ายก็กลายมาเป็นเอกลักษณ์ในงานของคุณยายในที่สุด

จากนั้นก็มีผลงานจากช่วงชีวิตตอนที่คุณยายย้ายไปตั้งรกรากที่ New York ในปี 1958 เพราะไม่อาจทนรับแรงกดดันจากครอบครัวและความอนุรักษ์นิยมของวงการศิลปะญี่ปุ่นในสมัยนั้นได้อีกต่อไป ที่ New York นี่เองที่คุณยายได้ทำผลงาน Infinity Net ซึ่งนับเป็นผลงานสร้างชื่อ เนื่องจาก ณ ตอนนั้น กระแส Minimalism กำลังเริ่มเป็นที่สนใจใน New York พอดี

นอกจากงานวาดรูปแล้ว คุณยายยังเริ่มทดลองงานประติมากรรมจากผ้า (เช่นงาน A Boat Carrying My Soul ซึ่งคุณยายได้เรียนรู้ทักษะการตัดเย็บมาตั้งแต่อายุ 13 สมัยที่ถูกส่งไปทำงานในโรงงานเย็บร่มชูชีพเพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2)

ยิ่งไปกว่านั้นที่ New York คุณยายยังริเริ่มงานกระจกสะท้อน งานดวงไฟวิบวับ และเป็นศิลปินคนแรกๆที่บุกเบิกงาน Pop Art, Environmental Art และ Kinetic Art แถมยังมีธุรกิจแฟชั่นเป็นของตัวเองอีกด้วย เรียกได้ว่ามาไกลจริงๆ

ในปี 1973 คุณยายเดินทางกลับมาญี่ปุ่นหลังจากเบื่อชีวิตต่างแดน โดยคุณยายได้ขยายขอบเขตผลงานของตัวเองออกไปถึงการเขียนบทกวีและนิยาย งานเซรามิค งานตัดแปะ และที่สำคัญก็คือการวาดรูปฟักทองลายจุดสุดแสนจะ iconic ในแบบที่เราคุ้นตากันในปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากส่วนของงานนิทรรศการแล้ว ใน Museum ยังมีสวนญี่ปุ่นสวยๆให้เราสามารถนั่งชม หรือไปเดินเล่นถ่ายรูปได้ ก่อนออกจาก Museum ก็อย่าลืมแว่บเข้าไปดูของฝากกุ๊กกิ๊กธีม Yayoi ใน Museum Shop ด้วยนะ และที่อยู่ติดกับร้านของที่ระลึกก็มี Northshore Cafe & Dining ให้เราสามารถแวะจิบกาแฟและกินขนมที่ Inspired มาจากงานของคุณยายก็ได้ด้วยล่ะ

ชีวิตของคุณยาย Yayoi นั้น นอกจากจะทำให้เราเห็นถึงอิทธิฤทธิ์ในการเยียวยาจิตใจของศิลปะแล้ว งานของคุณยายยังสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปลูกดอกบัวจากโคลนที่ตัวเองมี ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนด้านมืดของตัวเองให้เบ่งบานกลายเป็นงานศิลปะสุดสร้างสรรค์และเป็นที่ยอมรับระดับโลก แม้ในกรณีของคุณยายจะใช้เวลานานหลายสิบปี แต่ Yayoi Kusama ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ตอกย้ำว่าทุกความสำเร็จที่ยั่งยืนนั้น ย่อมมีเบื้องหลังเป็นความมุ่งมั่นบากบั่นลงมือทำ เพื่อเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ทีละเล็กทีละน้อยด้วยความอดทน

จากเด็กน้อยที่เกิดมาในสภาพแวดล้อมที่บั่นทอนสุขภาพจิต ในสังคมที่มีวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง คุณยายต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากที่จะแสดงออกถึงตัวตนที่แตกต่าง และออกเดินทางไปฝ่าฟัน ฝึกฝน และปลดแอกตัวเองสู่อิสรภาพ จนในที่สุดก็กลายเป็นศิลปินที่แหวกแนวโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งที่โลกได้รู้จัก สำหรับนิทรรศการนี้จะจัดไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ใครมีแพลนจะไปชมซากุระช่วงสงกรานต์ก็อย่าลืมแวะไป Say hi กับผลงานของคุณยายได้เลย ส่วนใครที่ไม่ได้ไปญี่ปุ่นก็ไม่ต้องเสียใจไป ขอกระซิบบอกข่าวที่เราแอบได้ยินมาแบบ exclusive สำหรับชาว #hopsters เท่านั้นเลยว่า สิ้นปีนี้ที่กรุงเทพฯ ก็จะมีงานจัดแสดงงานของคุณยายเช่นกันนะ ติดตามรายละเอียดกันต่อไปได้เลย

ข้อมูลเพิ่มเติม www.fmoca.jp/en/index.html


FB/IG: @hoparound.co

Youtube: hoparound.co

#LetsHOParound #LetsHoparoundKyoto #Kyoto #Japan #YayoiKusama #art #museum #รีวิวเกียวโต #เที่ยวเกียวโต #เกียวโต #แกลเลอรี่ในเกียวโต #เดินเล่นในเกียวโต #ไปเกียวโต #เที่ยวญี่ปุ่น #เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง

262 views0 comments
bottom of page